ขั้นตอนการรักษารากฟัน

หากคุณพบเงาดำที่ปลายรากเมื่อรับการเอ็กซเรย์ หรือเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับฟัน นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณควรรับการรักษารากฟัน ก่อนการรักษารากฟันคุณควรรับรู้ขั้นตอนเพื่อลดความตื่นกลัวก่อนการรักษา โดยขั้นตอนมีดังต่อไปนี้

     1.กรอฟันหาคลองรากฟันซึ่งเป็นรูเล็กๆ อยู่ต่อจากโพรงประสาท ถึงปลายรากฟัน

     2.ขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้น้ำยาล้าง ซับให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อโรคได้

     3.ปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ประมาณ 3 ถึง 7 วัน

     4.ทำความสะอาดและขยายคลองรากฟัน พร้อมเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อโรคใหม่ และอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราวกลับไปอีกครั้ง ทำเช่นนี้ 4 – 5 ครั้ง จนกว่าหนองจะแห้ง ไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง

5.เมื่อหนองแห้งไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง ทันตแพทย์ก็จะทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันถาวรโดยใช้วัสดุจำพวกยาง อุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟัน และปิดทับด้วยวัสดุทางทันตกรรมจำพวกซีเมนต์ ( Cement) และอมัลกั้ม ( Amalgum ) ซึ่งมีสีคล้ายเงินหรือกระดาษดีบุกที่หุ้มซองบุหรี่มีคุณสมบัติให้ความแข็ง แรงได้ดี จึงใช้อุดฟันกรามที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมากๆ สำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม และไม่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก ก็จะอุดด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติ

6.ทันตแพทย์จะทิ้งระยะเพื่อรอดูอาการซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของฟัน และเมื่อแน่ใจว่าการรักษารากฟันประสบความสำเร็จ ทันตแพทย์ก็จะทำการครอบฟันด้วยวัสดุตามความเหมาะสม

การรักษารากฟัน สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป ดีกว่าการใส่ฟันปลอม เพราะฟันที่รักษารากแล้วก็เหมือนฟันในปากซี่อื่นๆ คือ มีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงแข็งแรง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม

อัตราความสำเร็จในการรักษารากฟันในแต่ละงานวิจัยไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 80-90% ขึ้นกับสภาพเดิมของฟันและความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคในรากฟันของหมอฟัน หากหลังจากรักษารากฟันแล้วยังมีอาการปวด เหงือกบวม หรือมีหนอง เป็นข้อบ่งชี้ว่าการรักษารากฟันนั้นล้มเหลว จำเป็นต้องทำการรื้อวัสดุอุดเก่าออกและรักษารากฟันใหม่ หรือถ้าเกิดข้อแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น มีเครื่องมือหักคาที่ปลายรากฟัน อุดเกินปลายรากฟันแล้วไม่สามารถเอาออกได้ อาจต้องทำศัลยกรรมปลายรากฟันร่วมด้วยเพื่อเก็บฟันซี่นี้ไว้

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “ขั้นตอนการรักษารากฟัน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

การรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน คือ การนำส่วนที่อยู่ในโพรงประสาทฟันออก (ได้แก่ เส้นเลือดและเส้นประสาท) ใส่ยาจนปราศจากเชื้อโรคแล้วอุดภายในรากฟันด้วยวัสดุอุดฟัน โดยหมอฟันจะเลือกทำในกรณีต่อไปนี้

1. โพรงประสาทฟันติดเชื้อและโพรงประสาทฟันที่ตายแล้วหรือกำลังจะตาย
2. การที่ฟันได้รับการกระทบกระแทกจนทำให้ฟันแตกหักจนถึงโพรงประสาทฟัน
3. กรณีที่จำเป็นต้องนำประสาทฟันที่ดีออกเพื่อผลต่อการรักษาบางอย่าง โดยกรณีนี้หมอฟันจะต้องปรึกษาคนไข้ก่อนเสมอ

ปกติทันตแพทย์จะทำเฉพาะซี่ที่สำคัญๆ และหากพิจารณาแล้วฟันมีกรณีต่อไปนี้ ทันตแพทย์อาจใช้วิธีอื่นในการรักษาแทน
1. เยื่อยึดรากฟันมีไม่พอหรือไม่แข็งแรงพอ
2. ฟันซี่นั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะอุดหรือครอบได้
3. ฟันซี่นั้นไม่มีความสำคัญต่อสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันกรามถาวรซี่ที่ 3 ที่ไม่มีคู่สบ
4. ยาที่ใช้รักษาอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้บางราย เช่น การแพ้ยา

การรักษารากฟันเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นวิธีการที่ช่วยให้ไม่ต้องถอนฟันที่ติดเชื้อออก ช่วยกำจัดและป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่รากฟันและเนื้อเยื่อ อีกทั้งช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบของรากฟันอีกด้วย การรักษารากฟันจะทำให้เราสามารถใช้งานฟันได้ตามปกติ แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับฟันที่รากแข็งแรงอยู่แล้ว เราจึงต้องระมัดระวังและรักษาความสะอาดให้ดีอยู่เสมอ

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “การรักษารากฟัน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

อุดฟันพิจารณาจาก…

กรณีที่ทันตแพทย์จะสามารถทำการรักษาด้วยการอุดฟันให้กับผู้ป่วย มีข้อพิจารณาโดยทั่วไป คือ ฟันซี่ที่ผุจะต้องไม่ลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน และฟันจะต้องมีส่วนที่เหลือเพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุด นอกจากนี้ สภาพเหงือกบริเวณฟันซี่ที่จะอุดควรอยู่ในสภาพปกติ ซึ่งบางกรณีทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยขูดหินปูนก่อนที่จะทำการอุดฟัน

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “อุดฟันพิจารณาจาก…” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

ถอนฟันเพื่อการจัดฟัน

การจัดฟันไม่จำเป็นต้องถอนฟันในทุกกรณี

ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เข้ารับการจัดฟันมีฟันซ้อนเกมากน้อยเพียงใด หรือมีพื้นที่ในขากรรไกรเพียงพอ สำหรับการจัดเรียงฟันให้เป็นระเบียบได้หรือไม่ หากมีฟันซ้อนเกมากประกอบกับขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอก็ต้องถอนฟันออก

ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณาถอนฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งด้านละ 1 ซี่ เนื่องจากเป็นฟันที่อยู่กึ่งกลางความโค้งของขากรรไกร ซึ่งจะอยู่ไม่ไกลจากการซ้อนเกของฟันด้านหน้าและฟันด้านหลัง ทำให้ฟันหน้าและฟันหลังสามารถเคลื่อนตัวเข้ามาปิดช่องว่างได้ดีกว่าการถอนฟันซี่อื่นๆ และฟันกรามน้อยซี่ที่สองก็สามารถทำหน้าที่แทนฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งได้เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “ถอนฟันเพื่อการจัดฟัน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

คราบฟันหรือหินปูน

หินปูนหรือหินน้ำลาย คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว เนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน ส่วนแผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือ Bacterial plaque คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่ม ที่ประกอบด้วยเชื้อโรคที่ติดอยู่บนตัวฟัน แม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้ กระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากในปากจะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้า เกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบ ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้นและทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มาก โดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถเห็นและรู้สึกได้เมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “คราบฟันหรือหินปูน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

การจัดฟัน

การจัดฟัน เป็นการแก้ไขฟันและขากรรไกรที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ฟันยื่นและฟันที่สบกันไม่พอดีจะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด และมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรเนื่องมาจากฟันผุและโรคเหงือก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการกดทับต่อกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาการปวดที่ข้อต่อขากรรไกร คอ ไหล่ และหลังได้ ฟันที่ยื่นหรือไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมก็ยังทำลายบุคลิกภาพและทำให้เกิดความไม่มั่นใจอีกด้วย ประโยชน์ของการจัดฟันนั้นนอกจากจะทำให้สุขภาพปากและฟันแข็งแรงแล้ว ยังส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดีขึ้นและเกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “การจัดฟัน” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

การเกิดฟันผุ

tooth layerโดยปกติฟันของคนเราจะมีการ demineralization เป็นการที่แร่ธาตุของผิวฟันถูกขับออก และมี remineralization หรือขบวนการเติมแร่ธาตุให้กับผิวฟันด้วยแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำลาย หากขบวนการเติมแร่มากกว่าขบวนการขับออก ฟันจะเป็นปกติ

เมื่อขบวนการละลายแร่ธาตุมากกว่าขบวนการสร้างก็จะเกิด ฟันผุ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะเชื้อ Streptococcus Mutan และ Lactobasillus ย่อยอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตทำให้เกิดกรดซึ่งทำลายผิวเคลือบฟัน ในรายที่เริ่มเป็นจะเห็นเป็นสีขาวขุ่นเล็กๆ ที่ผิวฟัน ในระยะนี้หากตรวจพบ และรักษาสุขอนามัยก็จะทำให้ผิวฟันกลับเป็นปกติ หากยังมีการละลายของผิวฟันต่อไปอีกก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล หากยังไม่เป็นรูก็ยังสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ หากกลายเป็นรูก็จะคงรูปตลอด และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการปวดฟันจนกระทั่งฟันร่วง

หากฟันเริ่มผุเป็นและมีการละลายผิวฟันชั้น Enamel หรือชั้น Dentin จะไม่มีอาการปวดแต่อาจปรากฏรอยสีขาวหรือสีน้ำตาล เมื่อฟันผุลงลึกถึงชั้น Pulp ซึ่งกดดูจะนิ่ม ตอนนั้นจะมีการเสียวฟันเวลารับประทานของร้อยหรือเย็น และหากลามไปถึงรากฟันก็จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน บางรายจะมาด้วยมีกลิ่นปาก

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “การเกิดฟันผุ” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม

สายไปหรือยัง ?

“หากการป้องกันหินปูนสายเกินไปแล้วจะมีวิธีการใดช่วยแก้ไขได้อีก”

เมื่อทันตแพทย์ตรวจพบว่าฟันของคุณเริ่มมีหินปูนมาเกาะ คุณควรรีบตัดสินใจกำจัดออกไปโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นหินปูนดังกล่าวจะขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว และทำให้ฟันของคุณผุกร่อนได้ในที่สุด

ปัจจุบันนี้ในวงการแพทย์มีการพัฒนาวิธีการขจัดหินปูนที่มีเทคนิคขูดหรือกรอหินปูนได้อย่างนุ่มนวลมากขึ้น ซึ่งช่วยให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือต้องเสียเลือดเพราะเหงือกถลอกกับการขูดหินปูนอีกต่อไป

นอกจากนี้ในบางประเทศยังได้มีการนำเลเซอร์มาใช้ในการขูดหินปูนด้วย นับเป็นวิวัฒนาการใหม่อย่างหนึ่งของวงการทันตแพทย์ซึ่งการใช้เลเซอร์ดังกล่าวช่วยทำให้คนไข้แทบไม่รู้สึกอะไรเลย ในขณะที่คราบหินปูนถูกเลเซอร์ขูดออกไป

และยังมีวิธีการใหม่ล่าสุดที่คาดว่าจะได้รับความนิยมยิ่งกว่าเลเซอร์ นั่นคือ การใช้เจลพิเศษ ซึ่งเพียงป้ายเจลตรงบริเวณที่มีหินปูนเกาะอยู่ภายใน 30 วินาที เจลจะทำให้คราบหินปูนอ่อนตัวลงจากนั้นหมอก็จะขูดเบา ๆ ตรงบริเวณดังกล่าว คราบหินปูนก็จะหลุดออกไปอย่างง่ายดาย โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อเหงือกและฟัน

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “สายไปหรือยัง?” จาก เด็นทัลบลิส พระรามสาม